h1.post-title{ font-size:20px;}

วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

ฤดูนับสต็อกปลายปี เกมนี้มีระเบิด (ภาษี) ซุกอยู่!

และแล้วฤดูกาลของการตรวจนับสินค้าคงเหลือปลายปี (ending inventory) ก็เวียนมาอีกครั้ง ทำให้พนักงานบริษัทต่างๆ ต้องเหน็ดเหนื่อย (อีกแล้ว) ต้องฝืนกลั้นใจจากฝุ่น หรือกลิ่นสินค้า (จำพวกสารเคมี ฯ) เพื่อนับยอด เคลียร์ยอด สินค้าปลายปีกันเป็นประเพณีปีละครั้งเพื่อนำผลการตรวจนับไปบันทึกบัญชี และแจ้งในงบดุลส่งกระทรวงพาณิชย์ และกรมสรรพากร ตามลำดับ
แน่นอนว่าปริมาณสินค้าที่สูญหาย ขาดเกินจากสมุดสต็อกย่อมมีผลกระทบต่องบการเงิน ต่อการบันทึกบัญชีและภาษีอากร โดยเฉพาะในแง่ VAT นั้นจะมีโทษปรับสูงเสียด้วย แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขปมปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร หรือไม่? ลองติดตามดูกันไปดีกว่า….
1. ธุรกิจใด ต้องตรวจนับสต็อกบ้าง?
เนื่องจากมาตรฐานการบัญชี (ฉบับที่ 31) ของ ‘สมาคมนักบัญชีและ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย’ ได้ให้นิยาม ‘สินค้าคงเหลือ’ ว่าหมายถึง สินค้าสำเร็จรูป (finished goods) สินค้าระหว่างผลิต (work in process) และวัตถุดิบ (raw material) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ธุรกิจใดก็ตามที่มีสินค้าหรือวัตถุดิบในครอบครองล้วนต้องทำการ ตรวจนับสินค้าปลายปีทั้งสิ้น อาทิเช่น การผลิตสินค้า รับเหมาก่อสร้าง ซื้อมาขายไป การนำเข้าและส่งออก เป็นต้น
กิจการผลิตสินค้าดูจะยุ่งยากกว่า กิจการอื่นๆ เพราะต้องทำการตรวจนับทั้งวัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะพบว่ายอดตามผลการตรวจนับจริง มักจะแตกต่างจากยอดตามสมุดบัญชีคุมสินค้าอยู่เนืองๆ สาเหตุเกิดได้ในทุกช่วงของการผลิต ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบมา ซึ่งอาจมีปริมาณไม่ครบถ้วนตามใบกำกับสินค้า เนื่องจากมีการระเหิด ระเหย ชำรุด สูญหาย หรือผิดพลาดจากการชั่งตวงวัดก็เป็นได้ทั้งนั้น
ช่วงระหว่างการผลิต ก็จะเกิดปัญหาจากส่วนสูญเสียหรือเศษซากการผลิต รวมทั้งการหย่อนประสิทธิภาพในขณะผลิต หรือสินค้าเสียหายมาก เกินมาตรฐาน เป็นต้น
กิจการให้บริการ ซึ่งมองดูผิวเผินก็มักจะคิดว่าไม่ต้องทำการตรวจนับสินค้าอะไร (เพราะไม่มีตัวสินค้าให้ตรวจนับ) แต่อย่าลืมว่ากิจการเหล่านี้อาจต้องใช้วัสดุ อะไหล่ต่างๆ ในการให้บริการ เช่น อู่ซ่อมรถต้องมีสต็อกอะไหล่หลายๆ ชนิด หรือกิจการรับเหมาก่อสร้างก็ต้องใช้อิฐ หิน ดิน ทราย และเหล็ก ในการรับจ้างก่อสร้าง เป็นต้น ดังนั้นธุรกิจเหล่านี้ก็จำเป็นต้องทำการตรวจนับอะไหล่ หรือวัตถุดิบต่างๆ ที่คงเหลือตอนปลายปีด้วย เพื่อการบันทึกบัญชี และคำนวณต้นทุนของงานบริการ เป็นต้น
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กับ ‘สินค้าคงเหลือ’
มาตรา 65 ทวิ (6) บัญญัติว่า “ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุน หรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าและให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคง เหลือยกมา สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย”
จากบทบัญญัติข้างต้น แสดงว่ากฎหมายภาษีอากรยอมรับวิธีปฏิบัติที่ตรงกันกับกฎหมายบัญชีด้วย นั่นคือ เมื่อมีการตรวจนับสินค้าปลายงวดแล้ว จะต้องให้ผู้ตีราคาอิสระมาทำการแยกแยะและตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดออกมา แล้วถือเอาราคาทุนหรือราคาตลาดที่ต่ำกว่า (lower of cost or market value (LCM)) เป็นราคาสินค้าคงเหลือปลายปี และยกไปต้นปีถัดไป
ณ จุดนี้ จะมีปัญหาที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก เมื่อปริมาณที่ตรวจนับได้ มีความแตกต่างจากยอด ตามบัญชีคุมสินค้า บริษัทต้องปรับปรุงบัญชีอย่างไร ?
หลักการมีอยู่ว่า ให้บริษัทถือยอดตามผลการตรวจนับได้เป็นยอดที่ถูกต้อง แล้วทำการปรับปรุงการบันทึกบัญชีเสียใหม่ ดังนี้ครับ….

1. กรณีบันทึกสินค้าคงเหลือด้วยวิธี periodic inventory method บริษัทเพียงปรับปรุงปริมาณสินค้า ตามสมุดสต็อก (บัญชีย่อย) ให้ตรงตามผลการตรวจนับและให้นำมูลค่าสินค้าคงเหลือตามที่ตรวจนับและตีราคา ไว้ ไปบันทึกบัญชี ถือเป็น ‘สินค้าคงเหลือปลายงวด’ ในงบการเงินได้เลย ผลจากการปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้ ต้นทุนสินค้าที่ขายได้แบกรับมูลค่าสินค้าขาดเกินจากบัญชีคุมฯ โดยปริยาย
2. กรณีบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือด้วยวิธี perpetual inventory method บริษัทจะต้องปรับปรุงบัญชี ‘สินค้าคงเหลือ’ และ ‘ต้นทุนขาย’ เสียใหม่ให้ตรงตามผลการตรวจนับ ซึ่งจะมีผลให้ยอดตามบัญชีทั้งสองเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามยอดสินค้าที่ขาดหรือเกินไปตามลำดับ
ประเด็นที่สอง มีปัญหาว่าสินค้าที่ขาดหายไปจะต้องถือเป็นการขาย ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) หรือไม่?
ในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่ากรมสรรพากรไม่มีอำนาจประเมินมูลค่าสินค้าที่ขาดหาย และถือเป็นการขาย ทั้งนี้เพราะบริษัทมิได้มีการจำหน่ายจ่ายโอนสินค้าใดๆ ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร (ในทางปฏิบัติมักมีการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีดังกล่าวอยู่ เนืองๆ)
3. VAT กับ ‘สต็อกสินค้า’
กฎหมาย VAT มีบทลงโทษ สำหรับสินค้าขาดหรือเกินจาก ‘รายงานสินค้าและวัตถุดิบ’ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการทำการตรวจนับเอง (นับบ่อยก็จะโดนบ่อย) หรือเกิดจากการบุกเข้าตรวจปฏิบัติการของเจ้าพนักงานฯ (ดังตาราง)
มีข้อสังเกตว่าบทลงโทษจะรุนแรงมาก สำหรับกรณีมีสินค้าหรือวัตถุดิบขาดจากบัญชีคุมสินค้า (รายงานสินค้าและวัตถุดิบ) ทั้งนี้เพราะผู้ยกร่างกฎหมายมุ่งที่จะป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี แต่ดาบนี้ได้สร้างปัญหาให้กิจการต่างๆ ต้องถูกลงโทษทั้งๆ ที่สุจริต ที่บอกว่าสุจริตเพราะเป็นธรรมชาติของทุกกิจการที่ต้องมีสินค้าหรือวัตถุดิบ ขาดเกินไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานาอันเป็นปกติวิสัยทางการค้า อาทิเช่น ความผิดพลาดจากการชั่งตวงวัดสำหรับสินค้า (หรือวัตถุดิบ) ชนิดน้ำ หรือชนิดผง หรือในบางธุรกรรมที่มีสต็อกมากถึง 30,000 ชนิด (เช่น อะไหล่ยนต์) ก็มีโอกาสผิดพลาด และสับสนในการตัดสต็อกได้บ่อยๆ เป็นต้น
เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว จึงควรแก้กฎหมายให้มีบทลงโทษ เฉพาะในกรณีที่ถูกตรวจปฏิบัติการจากเจ้าพนักงาน หรือกรณีที่มีหลักฐานว่ามีการฉ้อฉลเท่านั้น หาไม่แล้วก็รังแต่จะเป็นการเร่งผลักให้บริษัทต่างๆ ต้องตะกายหาช่องหลบภัยกันจ้าละหวั่น
ตัวอย่าง ‘บริษัท 8-12 จำกัด’ ผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ต้องทำการตรวจเช็คสต็อกสินค้าทุกๆ เดือน เพราะสินค้ามีมากชนิด และส่วนใหญ่เป็นชิ้นเล็กๆ ง่ายต่อการซื้อขาย และหยิบฉวย (โดยไม่จ่ายสตางค์) ดังนั้น การตรวจนับบ่อยๆ จึงเป็นวิธีควบคุมภายในที่ดีอย่างหนึ่ง
แต่ร้าน ‘8-12’ หารู้ไม่ว่า ‘รายงานผลการตรวจนับสินค้า’ ทุกๆ เดือนที่เก็บไว้ที่แผนกบัญชีนั้น ไม่ต่างจากการนอนกอดขีปนาวุธ ‘โทมาฮอร์ค’ สักเท่าใด…ถ้า ‘สรรพากร’ ยึดไปได้ละก็ คุณเอ๋ย ลองเหลียวดูโทษข้างต้นสักหน่อยซิ !…ดังนั้น ที่ปรึกษาของร้านจึงมักแนะนำให้ ‘8-12’ ลงบัญชีสต็อกแบบ Sooking Account (คือ ซุกใต้โต๊ะ) เสียเลย อย่าให้ ‘สรรพากร’ ทราบเป็นเด็ดขาดเชียว !
4. อวสาน…ด้วยน้ำตาของผู้ตรวจนับ
สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมมีจุดอ่อนเป็น ธรรมดา อาทิเช่น งูย่อมแพ้เชือกกล้วย มหันตไฟจะถูกดับด้วยน้ำ (เท่านั้น)…ฟุตบอลไทย ก็แพ้ทาง ‘กาตาร์’ (ในโดฮาเกมส์) โดยที่ ‘ปาฏิหาริย์’ ไม่ยอมมาตามนัด…เป็นต้น
กฎหมาย VAT ก็ไม่อาจหลีกหนีจากสัจธรรมดังกล่าว…แต่ผู้เขียนมองเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำ พอสังเขป ดังนี้ครับ
1. การมีสินค้าเกินจากรายงานฯ มีโทษต่ำมากๆ…ถ้าจะพึงผิดพลาดแล้วไซร้ การมีสินค้าเกินย่อมดีกว่าขาด
2. หลายๆ บริษัท นิยมเพ่งกสิณ (หรือที่พวกโหรนิยมเรียก ‘นั่งเทียน’) แทนการตรวจนับจริง…ซึ่งเมื่อ ลืมตาขึ้นก็สามารถสรุป (เอาเอง) ว่า “ผลการตรวจนับของข้าพเจ้า ได้ผลตรงกับยอดในบัญชีสต็อกเปี๊ยบเลย”
3. บางท่านหัวเสธ. รู้ดีและรู้ลึก ก็เลยไม่ค่อยยอมทำบัญชีคุมสินค้าเสียดื้อๆ โดยอ้างว่าของอยู่ในมือเซลส์แมนบ้าง นำไปขายตามงานแสดงสินค้าบ้าง (เป็นสถานประกอบการชั่วคราว).…กรณีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับให้ต้องโชว์สต็อก ตามกฎหมาย VAT จ้า…เออแน่ะ ! เข้าใจคิดแฮะ    ฯลฯ
มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงออกจะเห็นใจผู้มีหน้าที่ตรวจนับสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของบริษัทต่างๆ ซึ่งนอกจากจะต้องมานั่งหลังขดหลังแข็ง เข้าไปทำงานในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า แทนที่จะได้ Happy New Year (ท่ามกลางพลุระเบิด (แฮ่ๆ)) เหมือนชาวบ้านทั่วไปแล้ว พวกเขายังต้องมีผลงานเป็นที่ถูกใจของบุคคลอีก 3 ฝ่ายด้วยคือ (1) เจ้านายตัวเอง (2) ผู้สอบบัญชี และ (3) สรรพากร
โดยเฉพาะในรายที่ 3 นี่ ถ้าบริษัทเกิดเผลอไปสะดุดบ่วงภาษีเข้า นอกจากตัวบริษัทจะม่อยแล้ว ตัวผู้นับเอง ก็อาจโดนยึดอั้งเปา (โบนัส) ส่งท้ายปี 2549 เป็นบำเหน็จความเหนื่อยบวกข้อหา “ทิ้งสเปโตให้ ‘สรรพากร’ น็อคมืด จนบริษัทต้องเสียค่าโฮ่”….เฮ้อ! Amazing Inventory & VAT จริงๆ! 

 ที่มา  :  กรุงเทพธุรกิจ  19/1/2550   โดย  อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น