h1.post-title{ font-size:20px;}

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

108 ประเด็นความผิด ภาษีนิติบุคคล (2)

บรรยากาศการยื่นแบบ ภ.ง.ด. รอบปีนี้ ดูเงียบเหงา ทั้งผู้ยื่น (บริษัท /หจก.) และผู้รับยื่น (กรมสรรพากร) ซึ่งคงเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยลบต่างๆ ทั้งกรณีน้ำมันแพง ข้าวสารหาย (กักตุน) ธัญญาหารลด (ภัยธรรมชาติ) และประเด็นทางการเมือง
ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอง ซึ่งปิดงบไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยมีผลประกอบการโดยรวมยังดีอยู่ จึงพอใจชื้นได้ว่าปีนี้สรรพากร ยังคงเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย เพราะปลาตัวใหญ่ยังออกไข่ได้ดีจะมีก็แต่ SMEs ส่วนใหญ่ ที่สู้กระแสคลื่นโลกาภิวัตน์ไม่ได้ จึงอาจออกไข่ได้มาใบเล็กๆ ฯลฯ
ข้อเขียนวันนี้ จะเสนอประเด็นความผิดภาษีนิติบุคคล ต่อจากตอน 1 (สัปดาห์ก่อน) ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถค้นดูข้อมูลได้ที่ www.taxbiz.co.th เช่นเดิมครับ
4. รายจ่ายไม่มีบิล
4.1 แนวคิด/หลักการ
รายจ่ายทุกกรณีที่เกิดขึ้นย่อมสามารถ นำหักเป็นรายจ่าย เพื่อการรัษฎากรได้ เว้นแต่จะเข้าต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1) - (20) กล่าวสำหรับรายจ่ายที่ไม่มีบิล หากพิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายจริง เกี่ยวข้องกับกิจการ ก็ย่อมสามารถนำมาหักเป็นรายจ่าย เพื่อการรัษฎากรได้ทั้งสิ้น ไม่ว่ารายจ่ายดังกล่าวจะผิดหลักเกณฑ์ของกฎหมายอื่นหรือไม่ก็ตาม เช่น เงินใต้โต๊ะ เป็นต้น
4.2 ปัญหา
มีธุรกิจหลายประเภทที่มักซื้อขายกัน โดยไม่ออกใบแจ้งหนี้/ใบเสร็จรับเงิน เช่น กิจการร้านขายอาหาร/ภัตตาคาร กิจการค้าวัสดุก่อสร้าง กิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ กิจการค้าอะไหล่ยนต์ เป็นต้น
กรณีนี้จึงทำให้ ทั้ง 3 ฝ่ายมีประเด็นปัญหาตามมา กล่าวคือ
ผู้ขาย ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือร้านค้าย่อย ฯลฯ ที่เคยชินกับการเสียภาษีแบบเหมาจ่าย (ซึ่งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร) ซึ่งโดยมากเป็นพ่อค้าในต่างจังหวัด ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่นิยมทำบัญชี/ไม่ออกบิล
ผู้ซื้อ มี 2 กลุ่ม คือ ร้านค้าย่อยกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งในกรณีของผู้ซื้อที่เป็นร้านค้าย่อยกับร้านค้าย่อย ได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเป็นปกติธุระที่จะไม่ออกบิลซื้อขายระหว่างกัน อยู่แล้วเพราะส่วนใหญ่ มักเสียภาษีแบบเหมาจ่าย (ตามแต่จะตกลงกับเจ้าพนักงานในแต่ละท้องที่) แต่สำหรับกรณีของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งทำบัญชีชุดเดียว จะเกิดปัญหาจากการไม่มีใบสำคัญคู่จ่ายมาลงบัญชี กฎหมายภาษีถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามฯ (รายจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับไม่ได้) ตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร
กรมสรรพากร ได้แก้ปัญหาโดยใช้มาตรการปราบปราม เช่น การออกตรวจปฏิบัติการ/การออกหนังสือเชิญพบการออกหมายเรียก และออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อป้องกัน อุดช่องโหว่ของการหลีกเลี่ยงภาษี ฯลฯ กรณีนี้จึงก่อ Compliance Costs (ต้นทุนปฏิบัติตามกฎหมายภาษี) ที่สูงต่อผู้ประกอบการทุกระดับ

4.3 วิธีแก้ไข
กรมสรรพากรได้วางระเบียบปฏิบัติ กรณีกิจการต่างๆ ไม่มีเอกสาร/ใบสำคัญคู่จ่ายที่ไม่สมบูรณ์ โดยสามารถปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 วิธี ต่อไปนี้คือ
(1) ให้ผู้ซื้อจัดทำใบสำคัญจ่าย (Payment Voucher) ให้ผู้ขายลงนามพร้อมระบุชื่อที่อยู่/รายการสินค้า (บริการ) ที่ซื้อขาย และถ่ายสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขายไว้เป็นสำคัญ
(2) ให้ผู้ซื้อชำระราคาด้วยการ สั่งจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม (A/C PAYEE ONLY) ระบุชื่อผู้รับเงิน (ผู้ขาย) ไว้เป็นหลักฐานประกอบการลงบัญชี
(3) ให้ผู้ซื้อจ่ายเงินผ่านระบบตัดบัญชีเงินฝากธนาคาร (Bank Statement) ของผู้ขาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการลงบัญชีได้ เช่นกัน
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติโดยส่วนใหญ่ แล้วไม่มีผู้ขายรายใดยินยอมให้ปฏิบัติตาม 3 วิธี ดังกล่าวแต่อย่างใดในความเห็นของผู้เขียน กรมสรรพากรอาจแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยหลักเกณฑ์พิเศษ เช่น ยอมให้บริษัท SMEs (ผู้ซื้อ) สามารถเลือกหักรายจ่ายเป็นการเหมา เป็นต้น ส่วนในแง่การวางแผนภาษี (ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายปัจจุบัน) ผู้เขียนมักแนะนำให้ ผู้ประกอบการจัดตั้งหน่วยภาษี (Tax entity) ในรูปบุคคลธรรมดา ซึ่ง พ.ร.ฎ.#11 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นทางเลือกให้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายวิธีเหมา หรือ หักตามจริงก็ได้ (แต่ต้องแสดงบิล)
5. ค่าส่งเสริมการขาย
5.1 แนวคิด/หลักการ
ตามประมวลรัษฎากรฉบับปัจจุบัน กรณีการส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม) จะมีภาระภาษีหลัก ๆ มาเกี่ยวข้อง 3 กรณี ดังนี้
ประเภทภาษี หลักเกณฑ์ กฎหมายอ้างอิง
ภาษีเงินได้นิติบุคคล อำนาจในการประเมินรายรับกรณีมีการจำหน่ายจ่ายโอนสินค้าฯ โดยไม่มีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด ม. 65 ทวิ (4)
VAT - อำนาจในการประเมินรายรับเพิ่มกรณีผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงมูลค่าฐานภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ม. 88/2 (3) , (4)
- การให้ส่วนลดที่จะลดฐานภาษีต้องเป็นกรณีส่วนลดการค้า (Trade Discount) ม. 79 (1)
- การยกเว้นภาษีขายต้องเป็นการแถมพร้อมขายและมูลค่าของแถมไม่เกินมูลค่าสินค้า ที่ขาย และการแจกของขวัญของชำร่วยสินค้าตัวอย่าง ประกาศ Vat#40 และ #55
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย - การประกวดแข่งขันชิงโชคต้องหัก ณ ที่จ่าย 5% ทป.4/2528 (ข้อ 9 (1))
- การจ่ายเงินรางวัลเพื่อการส่งเสริมการขาย ต้องหัก ณ ที่จ่าย 3% ทป.4/2528 (ข้อ 12/2)
5.2 ปัญหา
กฎหมายภาษีวางหลักเกณฑ์ และเงื่อนทางภาษีในหลายกรณีแตกต่างจากประเพณีธุรกิจ และยังมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ในแต่ละประเภทภาษี กรณีนี้จึงทำให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติผิดพลาดและต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม อยู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ภาระภาษีจากการส่งเสริมการขาย มิได้มีเม็ดเงินอย่างเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด
5.3 วิธีแก้ไข
(1) บริษัทต้องมีแคมเปญส่งเสริมการขาย (Promotion Campaign) เป็น Supporting Documents อย่างชัดเจน เพื่อพิสูจน์ คำว่า “เหตุผลอันสมควร” ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4)
(2) การให้ส่วนลด จะต้องเป็น Trade Discount และหากเป็นการออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ผู้ขายจะต้องแสดงทั้งราคาขาย ส่วนลดและราคาขายสุทธิ จึงจะเข้าเงื่อนไข ที่สามารถนำส่วนลดดังกล่าวมาลดยอดฐานภาษีลงมาได้ (ม.79(1))
(3) การแถมสินค้า จะต้องมีแคมเปญรองรับ และต้องเป็นการแถมพร้อมขาย โดยมูลค่าของแถมต้องไม่เกินมูลค่าสินค้าที่ขาย (Vat#40)
(4) การแจกสินค้าตัวอย่าง จะต้องเป็นกรณีของ Sample ที่ให้ทดลองใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เลือกปฏิบัติ กรณีนี้จึงไม่ต้องเสียภาษีขาย (Vat#55)
(5) ของขวัญ ของชำร่วย กระเช้าปีใหม่ ฯลฯ นั้น เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 2761/2524 วินิจฉัยให้เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) (รายจ่ายส่วนตัว) แต่กรมสรรพากรได้ออกคำวินิจฉัย อนุโลมให้ถือเป็นค่าโฆษณาได้
ส่วนในแง่ Vat#55 ได้วางหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นการแจกเนื่องในเทศกาล โดยมีชื่อบริษัทติดอยู่ เป็นสิ่งของที่พึงให้กันตามประเพณี และมีมูลค่าไม่เกินสมควร จึงจะไม่เสียภาษีขาย (Vat#55)


เรื่อง : อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์ 
bangkokbizweek.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น