h1.post-title{ font-size:20px;}

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 213 เรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๑๓)
เรื่อง กำหนดวิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อม ที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
---------------------------------
http://www.rd.go.th/publish/33067.0.html

อาศัย อำนาจตามความในวรรคสอง ของมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๔ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ต้องเป็นไปตามวิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
(๑) ต้องเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด มูลค่าไม่เกินห้าล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและทำสัญญาจ้างปลูกสร้างอาคารแยกจากกัน
อสังหาริมทรัพย์ตามวรรคหนึ่งต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๒) การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ จริง แต่ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(๓) ต้องเป็นการจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ที่จ่ายไปในระหว่างวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ และต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จภายใน ช่วงเวลาดังกล่าว
(๔) ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ครั้งแรกภายในห้าปีภาษี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว และต้องใช้สิทธิเป็นเวลาห้าปีภาษีต่อเนื่องกัน โดยให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปี
(๕) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ให้ได้รับยกเว้นภาษีทุกคนโดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนของกรรมสิทธิ์ ของแต่ละคน แต่รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริม ทรัพย์จริง และไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(๖) กรณีผู้มีเงินได้มีสามีหรือภริยา ให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อม ที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยได้เพียงแห่งเดียว
(๗) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้
(ก) กรณีภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้รวมกันเท่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริม ทรัพย์จริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร พร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(ข) กรณีภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กึ่งหนึ่งของจำนวนเงิน ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร พร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ทั้งนี้ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ครั้งแรกของสามีและภริยา จะต้องกระทำในปีภาษีเดียวกัน
(ค) กรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อยู่ก่อนแล้ว ให้สามีและภริยาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้รวมกันไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่า อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพียงแห่งเดียว
(๘) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งต้องยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังนี้
(ก) กรณีผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อยู่ก่อนแล้ว ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงิน ได้เท่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(ข) กรณีผู้มีเงินได้สมรสกัน ต่อมามีสิทธิได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กึ่งหนึ่งของจำนวนเงิน ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร พร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด
(๙) ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย มาก่อน หรือไม่มีชื่อเป็นหรือเคยเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านที่ใช้เป็นหลักฐาน เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเองหรือคู่สมรสตาม ทะเบียนบ้าน
(๑๐) กรณีการกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน โดยผู้กู้ร่วมมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือเคยใช้สิทธิหักลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีมาแล้ว ผู้กู้ร่วมจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีในส่วนของเงินได้ที่ใช้กู้ร่วม

ข้อ ๒ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานประกอบการยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้
(๑) หนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้
(๒) หนังสือรับรองตนเองว่าเป็นที่อยู่อาศัยแห่งแรก โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้
(๓) สำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
(๔) สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน (กรณีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน)

ข้อ ๓ ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็น เวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ใน อสังหาริมทรัพย์ หรือมีชื่อเป็นคู่สัญญากับสถาบันการเงินที่ให้กู้ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตาย หรือกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย

ข้อ ๔ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปหักจากภาษีที่ต้องชำระจากการ คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา ๔๘ (๑) และ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ก่อนการคำนวณเครดิตภาษี
กรณีผู้มีเงินได้มีภาษีที่ต้องชำระน้อยกว่าจำนวนค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในแต่ละปีภาษี ผู้มีเงินได้ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีจากส่วนต่างดังกล่าว

ข้อ ๕ กรณีผู้มีเงินได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด และได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว และต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไปตามวิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่นำเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็น อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดไปหักออกจากภาษีที่ต้องชำระมาแล้ว พร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ ๖ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕


สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น