บริษัท เอสซีพีการบัญชีกรุ๊ป จำกัด รับทำบัญชี,ตรวจสอบบัญชี,จดทะเบียนบริษัท,จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน,และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ โทรติดต่อ 083-4923837 คุณสมนึก
วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (4)
ขอนำประเด็น ปัญหาการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา ขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม อีกครั้งหนึ่งด้วย
วิสัชนา หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม หรือ SMEs เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 555) พ.ศ. 2555 ดังต่อไปนี้
“มาตรา 5 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละยี่สิบสามของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555
(2) ร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557”
จากบทบัญญัติดังกล่าว พอสรุปความได้ว่า
1. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม หรือ SMEs รวมทั้งกิจการร่วมค้า จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557
2. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม หรือ SMEs รวมทั้งกิจการร่วมค้า จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิเป็นร้อยละ 23 และร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิเพียง 3 รอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละ 23 ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555
(2) ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557
อนึ่ง การที่รัฐบาลกำหนดให้มีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลเพียงไม่เกิน 3 รอบระยะเวลาบัญชีนั้น ก็เนื่องจากในสภาวการณ์ขณะนั้น รัฐบาลเชื่อมั่นว่า จะสามารถแก้ไขบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม หรือ SMEs รวมทั้งกิจการร่วมค้า ได้ทันภายในปี พ.ศ. 2557 ดังนั้น เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าว คาดว่าจะมีการขยายกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปอีกอย่างแน่ นอน เพื่อให้สอดรับกับกิจการ SMEs
ที่มา bangkokbiznews.com โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (3)
ขอนำประเด็นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล รัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เงินทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วยัง ไม่เกิน 5 ล้าน และไม่เคยมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการต้องไม่เกินกว่า 30 ล้านในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เงื่อนไขดังกล่าวมีข้อกำหนดอย่างไร
วิสัชนา ในกรณีหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 30 ล้านบาท หรือมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 5 ล้านบาท อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองกรณี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ย่อมเสียสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 และการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ตลอดไป
ปุจฉา มีข้อความใดบ่งบอกหรือระบุว่า การลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว ให้ใช้บังคับแก่เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ไทยเท่านั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ ประกอบกิจการในประเทศไทย รวมทั้งกิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
วิสัชนา สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ “มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท” นั้น ให้หมายความถึงแต่เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตาม กฎหมายของไทยเท่านั้น เนื่องจาก
1. คำว่า “มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท” นั้น มีเจตนารมณ์ที่จะสิทธิแต่เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของไทยเท่านั้น
2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีแต่ทุนที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งแสดงเป็นเจ้าหนี้สำนักงานใหญ่ ซึ่งมิใช่ทุนที่เรียกชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแต่อย่างใด
3. กรณีกิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลของต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ก็เช่นเดียวกันกับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ของต่างประเทศนั่นเอง
4. กรณี “กิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร” ซึ่งได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น นั้น โดยสถานภาพมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หากแต่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น จึงไม่มีเงินทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อทางราชการแต่อย่างใด
ที่มา bangkokbiznews.com โดยสุเทพ พงษ์พิทักษ์
วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (2)
ขอนำประเด็นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีการยกเว้นและลดอัตราตามพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 มาปุจฉา - วิสัชนา
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อมอย่างไร
วิสัชนา หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อมเป็นไปตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ดังต่อไปนี้
1. “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีทุนที่เรียกชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้าน บาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
คำว่า “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้ เพื่อขายเท่านั้น อาทิ รายได้จากการขายสินค้าที่ซื้อหรือนำเข้ามาเพื่อขายหรือส่งออก หรือสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตเพื่อขาย ดังนั้น รายได้จากการขายอื่นใดจึงไม่นับรวมเป็นรายได้ในกรณีนี้ เช่น กำไรจากการขายทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการ รายได้จากเศษซากวัสดุสำนักงาน เป็นต้น
คำว่า “บริการ” หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า ซึ่งหมายความรวมถึง รายได้ค่าดอกเบี้ยรับ รายได้เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือรายได้จากการให้บริการอื่นใดทั้งสิ้น
2. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิดังต่อไปนี้
(1) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2555
(2) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
3. ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้
(1) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 150,000 บาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2555
(2) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้
(ก) ร้อยละ 23 ของกำไรสุทธิ สำหรับหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2555
(ข) ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีถัดมาที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
bangkokbiznews.com โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (1)
ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ได้มีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลทั่วไป เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี และสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จึงขอนำมาทบทวนเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการทั่วไปอย่างไร
วิสัชนา เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและจูงใจการลงทุนใน ด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากต่างประเทศ อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนให้มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคลที่สอดคล้องกัน
1. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้จัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(1) ร้อยละ 23 ของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2555
(2) ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.2556 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2557
ปุจฉา การกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 3 รอบระยะเวลาบัญชีมีเหตุผลอย่างไร
วิสัชนา ในความเป็นจริงต้องการลดอัตราลงเหลือร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ แต่เนื่องจากการแก้ไขบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรเป็นการถาวร ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาที่พอสมควร ดังนั้น ในกรณีเร่งด่วน จำเป็นต้องใช้กลไกตามมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งให้อำนาจแก่รัฐบาลที่จะตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร จึงได้มีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ณ บัดนี้ เชื่อว่ารัฐบาลคงจะไม่สามารถตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ได้ทันภายในปี 2557 อย่างแน่นอนช่วงเวลา 3 ปี เครื่องมือที่ใช้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยการตราพระราช กฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร ก็ยังคงสามารถกระทำต่อไปได้อีก
ปุจฉา การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิดังกล่าว สอดคล้องกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่อย่างไร
วิสัชนา ในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม และมาเลเซีย จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 25% ของกำไรสุทธิ ส่วนสิงคโปร์ จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 17% ของกำไรสุทธิ เท่านั้น
นอกจากนี้ ทั้งสามประเทศยังจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเพียงระดับเดียว คือภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น ไม่เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการจ่ายเงินปันผล ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยของเราที่จัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเป็นสอง ระดับ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และเมื่อมีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรก็จะจัดเก็บภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาจากผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย อีก 10% ของเงินปันผลหรือเงินแบ่งของกำไร
bangkokbiznews.com โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)