h1.post-title{ font-size:20px;}

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ข้อความใหม่ในใบกำกับภาษี


เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 196)

เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากรนอกเหนือไปจากข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” “สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ ...” และ “เลขทะเบียนรถยนต์” ซึ่งมีผลใช้บังคับสำหรับใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไปจึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป ต้องมีข้อความเพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง
วิสัชนา ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป ต้องมีข้อความเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1. ต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ โดยให้จัดทำเฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นผู้ที่ต้องมีและ ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรตามมาตรา 3 เอกาทศ แห่งประมวลรัษฎากร (ข้อ 7)
2. ระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่ ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว ดังนี้ (ข้อ 8)
(1) กรณีสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นสถานที่ ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการนั้น ให้ระบุข้อความคำว่า “สำนักงานใหญ่”
(2) กรณีสถานประกอบการที่เป็นสาขาของผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นสถานที่ที่ได้ขาย สินค้าหรือให้บริการนั้น ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ ..”
3. ในกรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตามที่ปรากฏ ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว ดังนี้ (ข้อ 9)
(1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ ตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการในใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความคำว่า “สำนักงานใหญ่”
(2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสาขาตามที่ ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการในใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความว่า “สาขาที่ ..”
ข้อความคำว่า “สำนักใหญ่” และ “สาขาที่ ..”ตามข้อ 2 และข้อ 3 จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

ที่มา bangkokbiznews.com โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี (4)


ขอนำประเด็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี 2556 ตามแบบ ภ.ง.ด.94

สำหรับท่านที่มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา กำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคลครึ่งปีภาษี 2556 ในปีนี้ มีการขยายกำหนดเวลาหรือไม่ อย่างไร
วิสัชนา เนื่องจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการครึ่ง ปีภาษี 2556 ในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นวันเปิดทำการ จึงไม่มีการขยายกำหนดเวลาออกไปแต่อย่างใด เว้นแต่ท่านที่ใช้สิทธิยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.94 ผ่านอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร  ก็จะได้สิทธิขยายเวลาออกไปอีกแปดวัน ซึ่งจะสิ้นสุดวันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นการขยายกำหนดเวลาโดยรวมทุกประเภทภาษีสรรพากรเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2557 การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ทางอินเทอร์เน็ตสำหรับปีภาษี 2556 จึงถือเป็นครั้งสุดท้ายของการขยายเวลาดังกล่าว เว้นแต่จะมีการขยายกำหนดเวลากันใหม่
ปุจฉา กรณีมีเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องชำระในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 94 ต้องปฏิบัติอย่างไร
วิสัชนา ผู้มีเงินได้ต้องชำระภาษีเงินได้พร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เว้นแต่ในกรณีที่จำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี จำนวนตั้งแต่ 3000 บาทขึ้นไป อาจขอผ่อนชำระเป็น 3 งวดๆ ละเท่ากัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 64 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ที่ได้ยื่นภายในเดือนกันยายนของปีภาษี
งวดที่ 2 ภายใน 1 เดือนนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 (ภายในเดือนตุลาคม)
งวดที่ 3 ภายใน 1 เดือนนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการชำระงวดที่ 2 (ภายในเดือนพฤศจิกายน)
หากผู้มีเงินได้ไม่ชำระงวดที่ 2 หรืองวดที่ 3 ให้เป็นอันหมดสิทธิผ่อนชำระต้องนำเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้ง สิ้นไปชำระพร้อมทั้งรับผิดเสียเงินเพิ่มภาษีตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอีกด้วย
ปุจฉา กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เกินกำหนดเวลา มีบทลงโทษทางอาญาอย่างไร
วิสัชนา กรณียื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ล่าช้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งกรมสรรพากรกำหนดค่าปรับไว้ดังนี้
1. กรณียื่นแบบล่าช้าไม่เกิน 7 วันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ปรับกระทงละ 100.- บาท
2. กรณียื่นแบบล่าช้าเกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบปรับกระทงละ 200.- บาท
3. กรณีเจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดปรับกระทงละ 1,000.- บาท

ที่มา bangkokbiznews.com โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี (3)


ขอนำประเด็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี 2556 ตามแบบ ภ.ง.ด.94

สำหรับท่านที่มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มาปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีมีหลักเกณฑ์อย่างไร
วิสัชนา ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี มีหลักเกณฑ์ทั่วไปเช่นเดียวกับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี ดังนี้
1. ให้นำเงินได้มาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยจะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา เป็นอัตราร้อยละของเงินได้พึงประเมิน หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงตามเอกสารหลักฐานในการประกอบกิจการ หรือค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นหรือสมควร
2. จากนั้นหักด้วยค่าลดหย่อน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้หักได้กึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ตามแบบ ภ.ง.ด.90) ดังนี้
- ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 15,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 15,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตรที่มิได้ศึกษา หรือศึกษาในต่างประเทศคนละ 7,500 บาท สำหรับบุตรที่ศึกษาในประเทศไทย คนละ 8,500 บาท ทั้งนี้ เฉพาะบุตรที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีสิทธิหักลดหย่อนเท่านั้น
- ค่าลดหย่อนบุพการีคนละ 15,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไประหว่างมกราคม ถึงมิถุนายนในส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท ให้หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ในส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท อีกไม่เกิน 90,000 บาทให้ได้สิทธิยกเว้นภาษีโดยนำมาหักเช่นเดียวกับค่าลดหย่อน
- ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยที่จ่ายไประหว่างมกราคม ถึงมิถุนายน ในส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท ให้หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ในส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท อีกไม่เกิน 90,000 บาท เช่นเดียวกับเบี้ยประกันชีวิต
- ค่าลดหย่อนอุปการะคู่สมรส บุตร บุพการี ที่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยคนพิการ และคนพิการฯ คนละ 30,000 บาท
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพระหว่างเดือนมกราคม ถึงมิถุนายน ตามที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวระหว่างเดือนมกราคม ถึงมิถุนายน ตามที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและสนับสนุนและส่งเสริมการ กีฬา ให้หักยกเว้นเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายได้สองเท่าของจำนวนที่จ่ายไปจริง ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
- ค่าลดหย่อนเงินบริจาค ให้หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงระหว่างมกราคม ถึงมิถุนายนแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นแล้ว

ที่มา bangkokbiznews.com  โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์