h1.post-title{ font-size:20px;}

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี (3)


ขอนำประเด็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี 2556 ตามแบบ ภ.ง.ด.94

สำหรับท่านที่มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มาปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีมีหลักเกณฑ์อย่างไร
วิสัชนา ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี มีหลักเกณฑ์ทั่วไปเช่นเดียวกับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี ดังนี้
1. ให้นำเงินได้มาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยจะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา เป็นอัตราร้อยละของเงินได้พึงประเมิน หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงตามเอกสารหลักฐานในการประกอบกิจการ หรือค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นหรือสมควร
2. จากนั้นหักด้วยค่าลดหย่อน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้หักได้กึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ตามแบบ ภ.ง.ด.90) ดังนี้
- ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 15,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 15,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตรที่มิได้ศึกษา หรือศึกษาในต่างประเทศคนละ 7,500 บาท สำหรับบุตรที่ศึกษาในประเทศไทย คนละ 8,500 บาท ทั้งนี้ เฉพาะบุตรที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีสิทธิหักลดหย่อนเท่านั้น
- ค่าลดหย่อนบุพการีคนละ 15,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไประหว่างมกราคม ถึงมิถุนายนในส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท ให้หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ในส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท อีกไม่เกิน 90,000 บาทให้ได้สิทธิยกเว้นภาษีโดยนำมาหักเช่นเดียวกับค่าลดหย่อน
- ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยที่จ่ายไประหว่างมกราคม ถึงมิถุนายน ในส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท ให้หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ในส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท อีกไม่เกิน 90,000 บาท เช่นเดียวกับเบี้ยประกันชีวิต
- ค่าลดหย่อนอุปการะคู่สมรส บุตร บุพการี ที่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยคนพิการ และคนพิการฯ คนละ 30,000 บาท
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพระหว่างเดือนมกราคม ถึงมิถุนายน ตามที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวระหว่างเดือนมกราคม ถึงมิถุนายน ตามที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและสนับสนุนและส่งเสริมการ กีฬา ให้หักยกเว้นเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายได้สองเท่าของจำนวนที่จ่ายไปจริง ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
- ค่าลดหย่อนเงินบริจาค ให้หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงระหว่างมกราคม ถึงมิถุนายนแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นแล้ว

ที่มา bangkokbiznews.com  โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น