h1.post-title{ font-size:20px;}

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี (2)


ขอนำประเด็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี 2556 ตามแบบ 
ภ.ง.ด.94
สำหรับท่านที่มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มาปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา รายละเอียด เกี่ยวกับประเภทเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ต้องนำมายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี มีอะไรบ้าง
วิสัชนา เงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ต้องนำมายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ได้แก่ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)(6)(7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่ได้รับในระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2556 ดังต่อไปนี้
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ จากการให้เช่าทรัพย์สิน อาทิ การให้เช่าที่ดิน บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกาย หนังสือ อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าซ่อมแซม ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องยื่นนำไปใช้สิทธิเฉลี่ยเงินได้เป็นรายปีตามจำนวนปีอายุ การเช่า และต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 เพื่อเสียภาษีเงินได้ล่วงหน้าตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528 ไปแล้วนั้น ก็เป็นอันไม่ต้องนำมารวมยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่ง ปีภาษีอีก มิฉะนั้น ก็จะเกิดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษีอากร ในการบัญญัติกฎหมายจึงได้ถอดเงินได้พึงประเมินรายการนี้ออกไปจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี
เงินได้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ประกอบด้วย เงินได้จากการประกอบโรคศิลปะ หรือการบำบัดรักษาเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ รวมทั้งการศัลยกรรม วิชาชีพกฎหมาย เช่น ค่าว่าความของทนายความ ค่าที่ปรึกษากฎหมาย เป็นต้น เงินได้จากวิศวกรรม เช่น ค่าที่ปรึกษาทางวิศวกร เงินได้จากสถาปัตยกรรม เช่น ค่าออกแบบของสถาปนิก เป็นต้น เงินได้จากวิชาการบัญชี เช่น ค่ารับจ้างทำบัญชี ค่าสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร เป็นต้น หรือเงินได้จากวิชาชีพประณีตศิลปกรรม หรือการรับจ้างผลิตงานประณีตศิลป์ เช่น ช่างวาด ช่างปั้น ช่างหล่อ เป็นต้น
เงินได้ตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร จากการรับเหมาที่ต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ อาทิ ค่ารับเหมาก่อสร้างของผู้รับเหมา ซึ่งตามสัญญาจ้างเหมากำหนดให้ผู้รับเหมาต้องจัดหาวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในการ รับเหมาด้วย บางครั้งเรียกว่า รับเหมาลำซำ
เงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จากการประกอบธุรกิจให้บริการ การพาณิชย์หรือการค้าขาย การเกษตรกรรมหรือชาวนา ชาวไร่ หรือชาวสวนผลไม้และสวนยางพารา และแม้แต่ชาวนาเกลือ การอุตสาหกรรมหรือผู้ผลิตสินค้า การขนส่ง อาทิ แท็กซี่ รถรับจ้างขนส่ง หรือการอื่นใด อาทิ รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ชิงโชค เป็นต้น รวมทั้งค่ารักษาสัตว์ของสัตวแพทย์ ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลป์ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ “นักแสดงสาธารณะ” ที่กินความไปถึง นักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ หรือนักกีฬาอาชีพ อาทิ นักฟุตบอลอาชีพ นักแบดมินตันอาชีพ นักมวยสากลอาชีพ ซึ่งถือเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 ดังกล่าว

โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ที่มา bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น