h1.post-title{ font-size:20px;}

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จองชื่อนิติบุคคลผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตเพียงช่องทางเดียว

เดิมทีการจองชื่อนิติบุคคล สามารถยื่นคำร้องขอจองชื่อผ่านหน่วยงานของกรม กระทรวงพาณิชย์ โดยกรอกใบคำขอ “แบบจองชื่อนิติบุคคล” แล้วนายทะเบียนก็จะทำการลงทะเบียนจองชื่อให้ต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 14/01/2556 เป็นต้นไป กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ปรับปรุงระบบการจองชื่อและเพื่อให้มีการแจ้งผลได้รวดเร็วขึ้น จึงปรับให้จองชื่อนิติบุคคลผ่านระบบอินเตอร์เพียงช่องทางเดียว จากประสบการณ์ในจองชื่อบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ่านระบบอินเตอร์พบว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วัน ถึงจะทราบผลการอนุมัติ ทั้งนี้นายทะเบียนจะต้องเป็นผู้สั่งอนุมัติชื่ออีกครั้ง เนื่องจากระบบตรวจสอบชื่อยังไม่ละเอียดพอ เช่น กรณีสะกดคำไม่เหมือนกัน ระบบก็จะมองว่าชื่อไม่ซ้ำกัน เช่น บางชื่อใส่ ร์ บางชื่อก็ไม่ใส่ เป็นต้น
ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2556 เป็นต้นไป กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พัฒนาระบบการตรวจและจองชื่อนิติบุคคล โดยผู้ขอจดทะเบียนสามารถตรวจสอบชื่อที่ต้องการใช้ได้ด้วยตนเอง  ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ก่อนทําการจองชื่อว่าชื่อที่ต้องการใช้เหมือนหรือมีเสียงเรียกขานตรงกัน หรือคล้ายคลึงกับนิติบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วหรือไม่ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ของกรมฯ  จะประมวลผลและแสดงข้อมูลชื่นิติบุคคลที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับชื่อที่ต้องการตรวจ เพื่อให้พิจารณาและตัดสินใจเองว่าจะใช้ชื่อนั้นหรือไม่  และเมื่อตรวจสอบแล้วว่าชื่อดังกล่าวไม่เหมือนหรือมีเสียงเรียกขานตรงกัน หรือคล้ายกับนิติบุคคลอื่น ให้ดําเนินการจองชื่อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต  ทั้งนี้ นายทะเบียนจะตรวจสอบชื่อที่ขอจองอีกครั้งเฉพาะประเด็น ดังต่อไปนี้
- ชื่อที่ใช้คําที่ขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐหรือชื่อที่ใช้คําที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- ชื่อที่ใช้ภาษาต่างประเทศมีความหมายหรือมีเสียงเรียกขานไม่ตรงกับชื่อภาษาไทย
- ชื่อที่ใช้คําหรือตัวอักษรไม่ถูกหลักภาษาไทย
หากชื่อที่ใช้เหมือนหรือมีเสียงเรียกขานตรงกัน หรือคล้ายคลึงกับชื่อนิติบุคคลอื่น  ผู้ขอจองชื่อ/ห้างหุ้นส่วน/บริษัทจํากัด ต้องรับผิดชอบในการใช้ชื่อนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18  มาตรา 67 และมาตรา 1115 และต้องจดทะเบียนแก้ไขชื่อทันทีที่ทราบหรือควรทราบ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจองชื่อ ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่หน่วยงานของกรม และมีการแจ้งผลการจองชื่อได้รวดเร็วขึ้น จึงได้ปรับช่องทางจองชื่อให้จองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพียงช่องทางเดียว
หมายเหตุ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 18 สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้น ถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์ เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอํานาจให้ใช้ได้ก็ดี บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้  ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
มาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอํานาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกําหนดไว้ในกฎหมายข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง
มาตรา 67 ภายใต้บังคับมาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น
มาตรา 1115 ถ้าหากว่าชื่อบริษัทซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิพ้องกับชื่อบริษัทอื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้วก็ดีหรือพ้องกับชื่อซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิฉบับอื่นอันได้จดทะเบียนแล้วก็ดีหรือคล้ายคลึงกับชื่อเช่นกล่าวนั้นจนน่าจะลวงให้มหาชนหลงไปได้ก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้ที่มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เริ่มก่อการบริษัทก็ได้และจะร้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้เปลี่ยนชื่อนั้นเสียใหม่ก็ได้
เมื่อศาลมีคําสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องบอกชื่อซึ่งเปลี่ยนใหม่นั้นจดลงทะเบียนแทนชื่อเก่า และต้องแก้ใบสําคัญการจดทะเบียนด้วยตามกันไป
ที่มา .. ฝ่ายพิจารณาอนุญาตชื่อนิติบุคคล  ส่วนบริหารการจดทะเบียน  สํานักทะเบียนธุรกิจ โทร. 0 2547 4450   e–mail : nameit@dbd.go.th 

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีคนต่างด้าวร่วมลงทุนหรือมีคนต่างด้าวเป็นกรรมการ

จากเดิมบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นตั้งแต่ 40% ขึ้นไป กำหนดให้ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทที่เป็นคนไทยทุกคน ต้องส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุนประกอบคำขอจดทะเบียน เช่น สำเนาสมุดเงินฝากธนาคารหรือสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคาร 6 เดือน หรือเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น หรือสำเนาหลักฐานที่แสดงแหล่งที่มาของเงินลงทุนหรือถือหุ้น หลักฐานดังกล่าว จะต้องแสดงจำนวนเงินที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นนำมาลงหุ้นหรือถือหุ้นแต่ละราย แต่ถ้าคนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึง 40% ก็ไม่ต้องแสดงที่มาของเงินลงทุน แต่ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2556 เป็นต้นไป ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่มีคนต่างด้าวถือหุ้น หุ้นส่วนหรือผู้ร่วมก่อตั้งคนไทยทุกคนต้องส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุน (Bank Statemenet)
—————————————————————-
ประกาศสำนักทะเบียนธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์
ด้วยปรากฏว่ามีชาวต่างชาติประกอบธุรกิจบางประเภทโดยมิได้รับอนุญาต โดยจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจํากัดโดยให้คนไทยลงทุนหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ดังนั้นเพื่อให้การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจํากัดที่มีคนต่างด้าวร่วมลงทุน หรือคนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้มีอํานาจลงนามหรือร่วมผูกพันบริษัท เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง จึงได้ออกคําสั่งที่ 205/2555 ให้ผู้ขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว ส่งเอกสารหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยทุกคนประกอบคําขอจดทะเบียนโดยเอกสารดังกล่าว ต้องแสดงจํานวนเงินที่สอดคล้องกับจํานวนเงินที่นํามาลงหุ้นหรือถือหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นแต่ละราย ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) กรณีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัดมีผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นที่เป็นคนต่างด้าวลงหุ้นหรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัดไม่ถึงร้อยละ 50 ของเงินลงหุ้นหรือทุนจดทะเบียน
(2) กรณีบริษัทจํากัดไม่มีคนต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้น แต่คนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้มีอํานาจลงนาม หรือร่วมลงนามผูกพันบริษัท
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2556 เป็นต้นไป
………………………………………………………..
ฝ่ายบริหารทั่วไป สํานักทะเบียนธุรกิจ

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทำอย่างไร

1. เครื่องหมายการค้าคืออะไร
ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่าง หรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
2. เครื่องหมายการค้ามีกี่ประเภท
เครื่องหมายการค้า หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้ เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
เครื่องหมายบริการ หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการเพื่อแสดงว่า บริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่อง หมายบริการของบุคคลอื่น
เครื่องหมายรับรอง หมายความว่าเครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้หรือจะใช้เป็นที่หมาย หรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรอง แหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ/วิธีการผลิตคุณภาพ หรือคุณลักษณะของสินค้านั้น หรือเพื่อรับรองภาพ คุณภาพ ชนิด หรือคุณลักษณะอื่นใดของบริการนั้น
เครื่องหมายร่วม หมายความว่า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้หรือจะใช้โดยบริษัทหรือ วิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การจดทะเบียนบริษัท

คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นแต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบ มูลค่าของหุ้นที่ตนถือ
โครงสร้างของ "บริษัทจำกัด"
  1. ต้องมีผู้ร่วมลงทุน อย่างน้อย 3 คน
  2. แบ่งทุนออกเป็นหุ้น และมีมูลค่าหุ้นละเท่าๆ กัน
  3. มูลค่าหุ้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท
  4. ความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นมีจำกัด (เฉพาะจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ)
  5. ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง...คิดทบทวนให้เข้าใจ...ก่อนจดทะเบียนบริษัท

ชายชราสอนการจัดการสากล
เรื่อง ...คิดทบทวนให้เข้าใจ...ก่อนจดทะเบียนบริษัท

บริษัทได้รับ E-mail คำถามจากท่าน ขอให้คำปรึกษากับท่านดังนี้
1)  จากข้อมูลที่ท่านกรอก ทุนจดทะเบียนบริษัทอยู่ที่ 50,000 บาท ในทางปฏิบัติ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัทที่ทุนไม่เกิน 1.0 ล้านบาท จะเสียค่าธรรมเนียมที่ 5,000 บาท มีความหมายว่า ถ้าท่านจดทุน 50,000 บาท ก็เสียค่าธรรมเนียม 5,000 บาท จดทุน 1.0 ล้านบาท ก็เสีย 5,000 บาท ด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย หากต่อมาท่านประกาศเพิ่มทุนขึ้นอีกแต่ไม่ถึง 1.0 ล้านบาท ท่านก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก 5,000 บาท
2)  จากข้อ 1) จึงนิยมจดทะเบียนที่ทุน 1.0 ล้านบาทเป็นขั้นต่ำ โดยทำการเรียกชำระค่าหุ้น 25% ของ 1.0 ล้านบาท แต่กรณีนี้ท่านมีเงินทุนจริงอยู่ 50,000 บาท การบันทึกบัญชีในวันแรกของการตั้งบริษัทจะบันทึก
(1) เงินสด 50,000
(2) ลูกหนี้เงินกู้กรรมการ 200,000
(3) ทุน 25% 250,000
ท่านจะพบว่า สินทรัพย์ (1) + (2) = (3) ภายใต้เงื่อนไขว่าบริษัทไม่มีหนี้สิน
3)  จากข้อ 2) บริษัทจะออกงบการเงินได้ตามหลักบัญชี และผ่านการสอบบัญชีได้
4)  ปัญหาของท่านตาม 2) คือ รายการลูกหนี้เงินกู้กรรมการ ซึ่งเป็นรายการเสมือนว่า ท่านมีเงินจ่ายค่าหุ้นครบ 250,000 บาท แต่หลังจากที่จ่ายค่าหุ้นมาครบ 25% แล้ว ท่านในฐานะกรรมการมาขอยืมเงินบริษัทไปใช้ ทำให้ท่านกลายเป็นลูกหนี้
5)  หลังจากตั้งบริษัทเสร็จ วันใดที่ท่านมีเงิน ท่านก็ใส่เงินเข้าบริษัท ในรูปแบบของการคืนเงินกู้ให้กับบริษัท รายการลูกหนี้ก็จะลดลงและรายการเงินสดจะเพิ่มขึ้น ในจำนวนเดียวกันกับที่ท่านนำเงินกู้มาคืน
6)  การทยอยคืนเงินกู้ตาม 5) ไม่จำกัดระยะเวลา ท่านค่อยๆ ดำเนินการ ลูกหนี้ก็จะหมดไป เท่ากับว่าท่านได้ทยอยลงทุนนั่นเอง
7)  ธุรกิจของท่านเป็นธุรกิจรับเหมา หากมูลค่างานไม่สูง และลูกค้าเป็นรายย่อย ไม่ต้องการใบเสร็จรับเงิน การจดบริษัทในขณะนี้อาจเร็วเกินไป แต่หากลูกค้าแม้เป็นรายย่อย แต่ต้องการใบเสร็จรับเงิน การจดบริษัทในขณะนี้ก็มีความจำเป็น
8)  การจดบริษัทเร็วเพื่อให้บริษัทมีความเก่าแก่ เป็นเรื่องที่ท่านจะได้ประโยชน์ในด้านของความน่าเชื่อถือ แต่ความน่าเชื่อถือเรื่องอายุบริษัทอย่างเดียวไม่พอ ยังต้องแสดงผลประกอบการให้เห็นในงบการเงินอีกด้วย หากแม้นบริษัทเก่าแก่ แต่งบการเงินดูไม่ดี ความเก่าแก่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก
9)  การพิจารณาข้อ 7) จึงเป็นสาระที่นำไปสู่การตัดสินใจว่า จะจดบริษัทในขณะนี้ทันทีหรือไม่ เพราะการจดบริษัทขึ้นจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเรื่องบัญชี/ภาษี และการสอบบัญชีมีต้นทุนอยู่ที่ปีละ 30,000 – 50,000 บาทโดยประมาณ ท่านจึงต้องตัดสินใจให้รอบคอบอีกที
10)  ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ที่ท่านต้องการให้มี เช่น เพิ่มทุนด้วยการจ่ายค่าหุ้นเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน/ออกหุ้น บุริมสิทธิ/ขายหุ้นเกินราคา PAR/ฯลฯ บริษัทดำเนินการให้กับท่าน แต่การจะดำเนินการต่อเงื่อนไขใด จะต้องพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้นกับท่าน ว่ามีความเหมาะสมต่อเงื่อนไขใด ซึ่งท่านต้องแจ้งต่อบริษัทให้รับทราบก่อน จึงจะกำหนดเงื่อนไขให้ท่านได้
11)  เรื่องการคิดที่จะทำบริษัทให้ถูกต้องตามกติกาที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นเรื่องดีเยี่ยมและเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ
12)  ใบหุ้น หากจะให้บริษัททำ ก็ทำให้ท่านได้
ณ ขณะนี้บริษัทยังไม่เสนอค่าบริการกับท่าน บริษัทต้องการให้ท่านพิจารณาข้อมูลคำแนะนำตามจดหมายฉบับนี้ หากท่านตัดสินใจอย่างไร ขอให้แจ้งกลับบริษัทอีกครั้ง บริษัทจะดำเนินการให้กับท่าน

ชาย  กิตติคุณาภรณ์
fpmconsultant.com