h1.post-title{ font-size:20px;}

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (3)


ขอนำประเด็นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล รัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เงินทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วยัง ไม่เกิน 5 ล้าน และไม่เคยมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการต้องไม่เกินกว่า 30 ล้านในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เงื่อนไขดังกล่าวมีข้อกำหนดอย่างไร
วิสัชนา ในกรณีหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 30 ล้านบาท หรือมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 5 ล้านบาท อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองกรณี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ย่อมเสียสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 และการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ตลอดไป
ปุจฉา มีข้อความใดบ่งบอกหรือระบุว่า การลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว ให้ใช้บังคับแก่เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ไทยเท่านั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ ประกอบกิจการในประเทศไทย รวมทั้งกิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
วิสัชนา สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ “มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท” นั้น ให้หมายความถึงแต่เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตาม กฎหมายของไทยเท่านั้น เนื่องจาก
1. คำว่า “มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท” นั้น มีเจตนารมณ์ที่จะสิทธิแต่เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของไทยเท่านั้น
2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีแต่ทุนที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งแสดงเป็นเจ้าหนี้สำนักงานใหญ่ ซึ่งมิใช่ทุนที่เรียกชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแต่อย่างใด
3. กรณีกิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลของต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ก็เช่นเดียวกันกับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ของต่างประเทศนั่นเอง
4. กรณี “กิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร” ซึ่งได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น นั้น โดยสถานภาพมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หากแต่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น จึงไม่มีเงินทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อทางราชการแต่อย่างใด

ที่มา bangkokbiznews.com โดยสุเทพ พงษ์พิทักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น