h1.post-title{ font-size:20px;}

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย


ขอนำประเด็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับทรัพย์สิน หรือสินค้าที่บริจาคที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่น ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาปุจฉา - วิสัชนา ดังต่อไปนี้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนำสินค้าหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบการ หรือซื้อหามาเพื่อบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ทั้งกรณีอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยพิบัติอื่นอย่างไร
วิสัชนา ในหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนำสินค้าหรือทรัพย์สินออกบริจาคให้แก่ผู้ประสบภัยหรือบุคคลอื่น นั้น ตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นการ “ขาย” ตามมาตรา 77/1 (8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร เข้าลักษณะเป็นการนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ โดยต้องนำมูลค่าตาม “ราคาตลาด” ของสินค้าหรือทรัพย์สินที่นำออกบริจาคมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีที่ได้บริจาคนั้น ซึ่งได้แก่การบริจาคสินค้าให้แก่บุคคลหรือคณะบุคคลดังต่อไปนี้


1. การบริจาคให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติโดยตรง ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น

2. การบริจาคให้แก่รัฐบาล หรือกระทรวง ทบวง กรม จังหวัดเป็นการทั่วไป

3. การบริจาคให้แก่องค์การของรัฐบาล ทั้งกรณี เทศบาล องค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด องค์การบริหารราชการส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

4. การบริจาคให้แก่รัฐวิสาหกิจ

5. การบริจาคให้แก่มูลนิธิหรือสมาคมที่มิใช่องค์การกุศลสาธารณะตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

6. การบริจาคให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเพื่อนำไปบริจาคต่อให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ

ปุจฉา มีกรณีการบริจาคสินค้าหรือทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่อย่างไร
วิสัชนา กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนบริจาคสินค้าหรือทรัพย์สินโดยได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น เป็นไปตามมาตรา 81 (1)(น) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ได้แก่ การบริจาคสินค้าหรือทรัพย์สินให้แก่องค์การดังต่อไปนี้

1. สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ

2. สถานพยาบาลและสถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล

3. วัดวาอาราม

4. สภากาชาดไทย

5. มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การกุศลสาธารณะตามมาตรา 47 (7)(ข) และมาตรา 81 (1)(น) แห่งประมวลรัษฎากร

6. โรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ประกอบกิจการในรูปของนิติบุคคล

7. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่ได้แจ้งชื่อต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 206) ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ซึ่งออกตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554

ปุจฉา มีกรณีการบริจาคสินค้าหรือทรัพย์สินที่ไม่นับรวมเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่อย่างไร
วิสัชนา กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนบริจาคสินค้าหรือทรัพย์สินโดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี นั้น เป็นไปตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (19) และ (20) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2535 ได้แก่ การบริจาคสินค้าหรือทรัพย์สินให้แก่ส่วนราชการดังต่อไปนี้

1. ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติในลักษณะทำนองเดียวกัน

2. มูลค่าของทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการซึ่งผู้ประกอบการ จดทะเบียนบริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น