h1.post-title{ font-size:20px;}

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) หรือ (2)


ขอนำประเด็นการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ที่มิใช่เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียว
เพราะเหตุออกจากงาน เป็นไปตามมาตรา 50 (1) วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งอาจสรุปหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีดังกล่าวได้ดังนี้
ปุจฉา ผู้จ่ายเงินที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ที่มิใช่เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ได้แก่ บุคคลใดบ้าง
วิสัชนา ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในกรณีนี้ ได้แก่ ผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งมิใช่เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ได้แก่
1. บุคคลธรรมดา
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั้งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
4. นิติบุคคลอื่น อาทิ มูลนิธิ สมาคม สภากาชาดไทย วัดวาอาราม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาสังคมสงเคราะห์ สภาทนายความ สภาหนังสือพิมพ์
5. รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล องค์การบริหารราชการส่วนตำบล องค์การบริการราชการส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
6. ตัวแทนของผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวข้างต้น
ปุจฉา วิธีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) กรณีจ่ายเงินได้ที่มีจำนวนเงินและจำนวน คราวในการจ่ายแน่นอน มีอย่างไร

วิสัชนา วิธีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) กรณีจ่ายเงินได้ที่มีจำนวนเงินและจำนวน คราวในการจ่ายแน่นอน มีดังนี้
1. คำนวณยอดเงินได้เสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายเต็มทั้งปีโดยให้นำเงินได้พึงประเมิน ที่จ่ายคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายในปีภาษีนั้น “จำนวนคราวที่จะต้องจ่าย” ให้ถือปฏิบัติดังนี้
สำหรับการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับจำนวนเงินและจำนวนคราวในการจ่ายแน่นอน ให้ใช้จำนวนคราวที่จะต้องจ่ายจริงในปีภาษี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มทำงานในปีภาษีจนถึงสิ้นปีภาษี ทั้งนี้ ไม่ว่าลูกจ้างรายนั้นๆ จะได้ออกจากงานในระหว่างปีภาษีหรือไม่
(1) กรณีลูกจ้างผู้มีเงินได้ทำงานกับนายจ้างผู้จ่ายเงินได้ตั้งแต่เริ่มต้นปีภาษี
(ก) สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน ให้ใช้ 365 คราว
(ข) สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ให้ใช้ 52 คราว
(ค) สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน ให้ใช้ 12 คราว

(2) กรณีลูกจ้างผู้มีเงินได้เริ่มทำงานระหว่างปีภาษี ให้ใช้จำนวนคราวที่จะต้องจ่ายจริงที่เหลืออยู่ในปีภาษี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มเข้าทำงานจนถึงสิ้นปีภาษี เช่น ลูกจ้างเข้าทำงานเมื่อวันที่ 21 เมษายน สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนให้ใช้ 8 เศษ 1 ส่วน 3 เดือน (ระยะเวลาเต็มเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม เท่ากับ 8 เดือนรวมกับเศษของเดือนในเดือนเมษายน จำนวน 10 วันใน 30 วัน ซึ่งคิดเป็นหน่วยเดือนได้เท่ากับ เศษ 1 ส่วน 3 รวมเป็น 8 เศษ 1 ส่วน 3 คราว) สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายวันตามกรณีนี้ให้ใช้ 254 คราวโดยไม่นับวันหยุด เป็นต้น (ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 16/2530)
2. นำเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับจำนวนเงิน และจำนวนคราวในการจ่ายแน่นอนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีตาม 1. มาหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักค่าลดหย่อนต่างๆ ตามที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักได้ คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใด นำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า โดยหักเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 470) พ.ศ.2551 จำนวน 150,000 บาท
อนึ่ง กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 96/2543 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณค่าลดหย่อนเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังนี้
การคำนวณหักค่าลดหย่อน ให้คำนวณตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้พร้อมกับแนบสำเนาหลักฐานแสดงสิทธิใน ค่าลดหย่อนตามแบบ ล.ย.01 (แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน) ทั้งนี้ ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนได้ตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่เริ่ม หักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะจ่ายค่าลดหย่อนนั้นในเดือนใดของปีก็ตาม เว้นแต่ค่าลดหย่อนเงินบริจาคให้คำนวณหักได้เมื่อมีการจ่ายเงินบริจาคจริง เท่านั้น
กรณีผู้มีเงินได้ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงรายการค่าลดหย่อนระหว่างปี ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น
3. เมื่อคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีตาม 2. ได้เป็นเงินทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำมาหารด้วย “จำนวนคราวที่จะต้องจ่าย” จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวน ภาษีเงินได้ที่ต้องหักไว้ในแต่ละคราว หากผลลัพธ์ที่ได้จากการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายไม่ลงตัว เหลือเศษเท่าใด ให้เพิ่มเงินเท่าที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุด ท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่ากับจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น