บริษัท เอสซีพีการบัญชีกรุ๊ป จำกัด รับทำบัญชี,ตรวจสอบบัญชี,จดทะเบียนบริษัท,จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน,และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ โทรติดต่อ 083-4923837 คุณสมนึก
วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (1)
ช่วงเดือนก.ย.ของทุกปี เป็นเดือนสุดท้ายของกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94
สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (5) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ในระหว่างเดือนม.ค.ถึงเดือนมิ.ย.ของปีภาษี ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นด้วยหรือไม่ จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา เงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี มีรายการเงินได้ใดบ้าง
วิสัชนา เงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ได้แก่ เงินได้ประเภทต่อไปนี้
1. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร จากการให้เช่าทรัพย์สิน อาทิ การให้เช่าที่ดิน บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกาย หนังสือ หรือแม้กระทั่งต้นไม้ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าซ่อมแซม ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์
2. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร จากวิชาชีพอิสระ อาทิ แพทย์ ทนายความ วิศวกร สถาปนิก สำนักงานบัญชีและผู้สอบบัญชี ผู้รับจ้างทำงานศิลป์ เช่น ช่างวาด ช่างปั้น ช่างหล่อ ช่างแกะสลัก
3. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากรจากการรับเหมาที่ต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจาก เครื่องมือ อาทิ เงินได้จากรับเหมา ก่อสร้างที่ผู้รับเหมาต้องจัดหาวัสดุก่อสร้างมาใช้ในการรับจ้างเหมาด้วย
4. เงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จากการประกอบธุรกิจหรือการให้บริการ การพาณิชย์หรือการค้าขาย การเกษตรกรรมหรือเงินได้จากการขายพืชผลทางการเกษตรของชาวไร่ ชาวสวน การอุตสาหกรรมหรือผู้ผลิตสินค้า การขนส่ง อาทิ แท็กซี่ รถรับจ้างขนส่ง หรือการอื่นใดที่ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทอื่น อาทิ รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ชิงโชค
ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 อย่างไร
วิสัชนา เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ให้ใช้เกณฑ์เดียวกับเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำเพื่อแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำ ปี โดยจะต้องมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ถึงประเภทที่ 8 ในระหว่างเดือนม.ค.ถึงเดือนมิ.ย.เกินกว่าจำนวนต่อไปนี้
1. เกินกว่า 30,000 บาท สำหรับผู้มีเงินได้ไม่ว่าจะเป็นคนโสดหรือผู้ที่ไม่มีคู่สมรส รวมทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และกองมรดกที่ยังมิได้แบ่งด้วย
กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ไม่ว่าความเป็นสามีภริยาจะได้มีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่นั้น นับแต่ปีพ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ได้มีข้อกำหนดให้สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้ในส่วนของ ตน หากสามีภริยามีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ถึงประเภทที่ 8 ทั้งสองจะใช้สิทธิเลือกให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของฝ่ายหนึ่งเป็นของอีก ฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องเลือกตั้งแต่การยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีนี้เลย มิฉะนั้น ก็จะทำไม่ได้สิทธิเลือก ต้องกลับไปใช้กรณีต่างฝ่ายต่างยื่นเงินได้ในส่วนของตน
2. เกินกว่า 60,000 บาท กรณีผู้มีเงินได้มีคู่สมรส โดยผู้มีเงินได้มีเงินได้แต่เพียงฝ่ายเดียว
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ที่มา bangkokbiznews.com
ป้ายกำกับ:
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น