แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ
ขอนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 เพื่อให้การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 มาเป็นประเด็น ปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายกำหนดไว้อย่างไร
วิสัชนา การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขพอสรุปได้ดังนี้
1. ผู้ขายสินค้าต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
2. ต้องเป็นเงินอุดหนุน เงินสนับสนุน เงินช่วยเหลือ เงินส่วนลด หรือเงินอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันที่ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือผู้ จัดจำหน่ายได้จ่ายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าที่เป็นผู้ขายปลีกหรือขายส่งสินค้า หรือผู้แทนจำหน่าย ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะคำนวณจากฐานการซื้อขายหรือคำนวณจากฐานอื่นใด เพื่อให้มีผลต่อการขาย การลดต้นทุน หรือลดรายจ่าย ของผู้ซื้อสินค้านั้น
3. มูลค่ารางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ จากการส่งเสริมการขายที่อยู่ในข่ายที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายต้องมีจำนวนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากข้อกำหนดที่ตกลงกันเป็นครั้งคราว หรือเกิดจากสัญญาระยะยาวก็ตาม
4. ให้คำนวณหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
ปุจฉา กรณีตัวอย่างการจ่ายรางวัล ส่วนลดจากการส่งเสริมการขายที่อยู่ในข่ายต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
วิสัชนา กรมสรรพากรได้ยกตัวอย่างการจ่ายรางวัล ส่วนลดจากการส่งเสริมการขายที่อยู่ในข่ายต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังนี้
1. ค่าสิทธิประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าและ การจ่ายค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (ENTRANCE FEE) โดยมีข้อตกลงว่าผู้ซื้อต้องขายสินค้าของบริษัทผู้ขายสินค้าเท่านั้น ไม่สามารถนำสินค้าจากแหล่งอื่นมาขายได้
2. คูปองส่วนลดซึ่งมีค่าเป็นเงินสด ที่บริษัทผู้ขายสินค้าได้แนบติดกับตัวสินค้าเพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย เมื่อลูกค้านำสินค้าพร้อมคูปองมาชำระเงิน บริษัทผู้แทนจำหน่ายจะให้ส่วนลดเงินสดตามราคาคูปองนั้น และได้รับเงินชดเชยส่วนลดเงินสดตามคูปองนั้นคืนจากบริษัทผู้ขาย
3. เงินช่วยเหลือ หรือเงินชดเชย อาทิ
บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือค่าธรรมเนียมธนาคารในการรับรองตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าที่บริษัทผู้แทนจำหน่ายซื้อ จากบริษัทฯ ให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายทั้งหมด
บริษัทฯ ยกเลิกคลังสินค้าทั่วประเทศ และใช้สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับ บริษัทผู้แทนจำหน่าย เป็นผลให้บริษัทผู้แทนจำหน่ายจะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เพิ่มขึ้น บริษัทฯ จึงจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าโทรศัพท์ในส่วนที่เกินจากค่าโทรศัพท์ในเขต พื้นที่เดียวกันให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย
บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยส่งสินค้าถึงบริษัทผู้แทนจำหน่าย ต่อมามีข้อตกลงว่า หากบริษัทผู้แทนจำหน่ายขนสินค้าที่ซื้อด้วยตนเอง บริษัทฯ จะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าขนส่ง หรือจะลดราคาสินค้าให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย
บริษัทฯ ประกอบกิจการขายกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์ จ่ายเงินช่วยเหลือค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย ที่นำสินค้าที่ซื้อไปจัดแสดงหรือติดตั้งให้เห็นสภาพการใช้งานจริง เช่น ปูกระเบื้องและติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์เพื่อจัดแสดงเป็นห้องน้ำ
บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้า ได้จ่ายเงินช่วยเหลือค่าเดินทางและค่าที่พักให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายที่ เข้าร่วมสัมมนาเพื่อแนะนำสินค้าใหม่หรือเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจใน สินค้าของบริษัทฯ โดยมิได้เรียกเก็บค่าสัมมนาจากบริษัทผู้แทนจำหน่าย
4. ส่วนลดภายหลังขายได้ตามเป้าที่กำหนด (REBATE) อาทิ
บริษัทฯ ประกอบกิจการขายยางรถยนต์ จ่ายส่วนลดภายหลังขายได้ตามเป้าที่กำหนด ให้บริษัทผู้แทนจำหน่าย โดยจ่ายในลักษณะเป็นใบลดหนี้ (CREDIT NOTE) เพื่อให้บริษัทผู้แทนจำหน่ายนำมาชำระหนี้ค่าซื้อยางรถยนต์ในคราวต่อไป
บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้ายาจากต่างประเทศ ตกลงให้ส่วนลดแก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายในอัตรา 35% ของราคาสินค้า ให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่าย โดยรวบรวมยอดส่วนลดในแต่ละเดือนตามใบแจ้งหนี้
5. เงินค่าอุดหนุน (SUBSIDIZE) เช่น บริษัทฯ ประกอบกิจการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จ่ายเงินค่าอุดหนุน มูลค่า 500 บาท ต่อ 1 เครื่อง ให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายที่สามารถขายสินค้ารุ่นเก่าออกจากสต็อกได้ เป็นต้น
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น