h1.post-title{ font-size:20px;}

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ยื่น ภ.ง.ด. 94 / ภ.ง.ด. 90 จะเลือกหักเหมาหรือหักจริง

การยื่นเสียภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.94 /ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40(2)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร กฎหมายระบุให้เงินได้บางประเภทหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา
เงินได้บางประเภทกฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายจริง เงินได้บางประเภทกฎหมายให้เลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา
หรือหักจริงก็ได้ หรือเงินได้บางประเภทกฎหมายไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ เลย


สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)หรือ 40(8)แห่งประมวลรัษฎากร เช่น เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน แพทย์ที่เปิดคลินิก วิชาชีพกฎหมาย รับทำบัญชี กิจการซื้อมาขายไป ผู้ประกอบ
กิจการขนส่ง ผู้ประกอบกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นต้น
ผู้มีเงินได้พึงประเมินสามารถ
เลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา หรือหักค่าใช้จ่ายจริงก็ได้
แต่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)บางรายการที่กฎหมายไม่ได้ระบุให้เลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาไว้ในพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 11จะต้องหักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น เช่น การขายอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งค้าหากำไร เป็นต้น
 อย่างไรก็ดี การเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา หรือเลือกหักตามจริง ต่างก็มีดีแตกต่างกันไป สรุปได้ดังนี้
การหักค่าใช้จ่ายเหมา กฎหมายจะกำหนดให้หักคิดเป็นร้อยละของเงินได้พึงประเมินในอัตราที่ตายตัว ผู้มีเงินได้ไม่ต้องมีหลักฐานเอกสารแสดงค่าใช้จ่ายในการหาเงินได้นั้นแต่ประการใด ซึ่งเป็นทางเลือกของธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถหาเอกสารหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่ายได้ อีกทั้งผู้ประกอบการก็ไม่ต้องพะวงกับการจัดทำเอกสารหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่าย ไม่จำเป็นต้องจ้างบุคคลอื่นมาจัดทำบัญชี สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้บ้าง

ตัวอย่างของกิจการที่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ เช่น การให้เช่าบ้าน หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 30, กิจการซื้อมาขายไป หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 80, กิจการขนส่ง หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 80 เป็นต้น

ข้อดีของการหักค่าใช้จ่ายเหมาก็คือ หลักฐานเอกสารค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ต้องจัดทำหรือไม่จำ
เป็นต้องมี จึงเป็นที่นิยมใช้มากสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีระบบการจัดทำบัญชีที่ไม่ดี หรือไม่สามารถหาเอกสารหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่ายได้


การหักค่าใช้จ่ายจริง กฎหมายให้นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการประกอบกิจการ และไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามกฎหมายมาหักเป็นรายจ่าย โดยใช้หลักเกณฑ์การหักรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาบังคับใช้โดยอนุโลม พูดง่ายๆ ว่า ต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินของค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป และต้องไม่เป็นค่าใช้จ่ายที่ห้ามนำมาหักเป็นรายจ่าย ข้อดีของการหักค่าใช้จ่ายจริงก็คือ สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจมีค่าใช้จ่ายแท้จริงเป็นอย่างไร

การเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา หรือหักค่าใช้จ่ายจริง สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)หรือ 40(8)แห่งประมวลรัษฎากร ท่านสามารถศึกษาหาความรู้ได้จากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินฉบับที่ 11 พ.ศ. 2502

ประโยชน์ในการเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาหรือหักจริงจะมีมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับท่านแล้วล่ะต้องลองเปรียบเทียบกันว่าจะหักแบบใด แต่อย่าลืมว่าการหักค่าใช้จ่ายจริง จะต้องมีหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หากยื่นแบบเสียภาษีและเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงแล้ว เมื่อถูกตรวจพบว่าเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายจริงมีน้อยกว่ากรณีเลือกหักเหมา จะกลับใจขอหักค่าใช้จ่ายเหมาในปีภาษีที่ยื่นแบบก็ไม่ได้แล้ว แต่ในปีภาษีถัดไป ท่านจะเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาก็ได้ เป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีสามารถทำได้ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้แต่อย่างใด
กฎหมายภาษีสรรพากรเปิดทางไว้ให้แล้ว เลือกหักค่าใช้จ่ายวิธีใด แล้วแต่สะดวกครับ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น