h1.post-title{ font-size:20px;}

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2)

กรณีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถึงแก่ความตายระหว่างภาษี และกองมรดกยังไม่ได้แบ่ง ต้องทำอย่างไร

ขอนำประเด็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในส่วนที่เหลือ คือ ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง รวมทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มีใช่นิติบุคคลที่มีเงินได้ มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา นอกจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา แล้ว ยังมีบุคคลหรือหน่วยทางภาษีอากรอื่นใดที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกบ้าง
วิสัชนา นอกจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีชีวิตอยู่ตลอดปี ภาษี แล้วกฎหมายยังกำหนดให้หน่วยทางภาษีอากรกรณีดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
      1. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี ให้ผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้แทน  และโดยเฉพาะในการยื่นรายการเงินได้พึงประเมินของผู้ตายนั้น ให้รวมเงินได้พึงประเมินของผู้ตายและของกองมรดกที่ได้รับตลอดปีภาษีที่ผู้ นั้นถึงแก่ความตาย เป็นยอดเงินได้พึงประเมินที่จะต้องยื่นทั้งสิ้น (มาตรา 57 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)
       2. กรณีผู้มีเงินได้เป็นกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ซึ่งกำหนดให้เริ่มเสียภาษีเงินได้ตั้งแต่ปีถัดจากปีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความ ตายเป็นต้นไป ให้ผู้จัดการกองมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์   มรดก แล้วแต่กรณีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นรายการและเสียเงินได้ในนามของกองมรดกนั้น (มาตรา 57 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)
อนึ่ง สำหรับเงินได้ที่กองมรดกได้เสียภาษีเงินได้ไปแล้ว หากในภายหลังทายาทได้รับเงินได้ดังกล่าวจากกองมรดกให้ได้รับยกเว้นภาษี (มาตรา 42 (16) แห่งประมวลรัษฎากร)
      3. กรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้ผู้จัดการหรือผู้อำนวยการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของ ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลนั้น  จากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เสมือนเป็นบุคคลเดียวไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคน ไม่ต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสีย ภาษีอีก (มาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร)
นอกจากนี้ เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลในคณะบุคคลได้รับจากห้างหุ้นสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เฉพาะส่วนที่เกิดจากเงินได้ที่ได้เสียภาษีเงินได้ไว้ดังกล่าวให้ผู้มีเงิน ได้ได้รับยกเว้นภาษี (มาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร)
      4. กรณีบุคคลมีชื่อในหนังสือสำคัญใด ๆ แสดงว่า
 (1) เป็นเจ้าของทรัพย์สินอันระบุไว้ในหนังสือสำคัญ และทรัพย์นั้นก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ
  (2) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น  เจ้าพนักงาน ประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญนั้นก็ได้  แต่ถ้าบุคคลนั้นต้องโอนเงินได้พึงประเมินให้แก่บุคคลอื่น  มีสิทธิหักเงินภาษีจากจำนวนเงินซึ่งโอนให้แก่บุคคลอื่นตามส่วน (มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร)
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลอย่างไร
วิสัชนา กรณีการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดคำนิยามคำว่า "ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล" ไว้อย่างไร การจัดตั้งจึงกระทำได้โดยสัญญา ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “อันว่า สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท นั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากัน เพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น”
การตกลงเข้ากันเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือตกลงเข้ากันเป็นห้าง หุ้นส่วนสามัญ ตามมาตรา 1012 และมาตรา 1025 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่จะเข้าไปเป็นบุคคลในคณะบุคคลอื่นที่มิใช่ นิติบุคคลหรือเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญอื่นอีกได้ โดยไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ เเม้จะได้มีการจัดตั้งคณะบุคคลไว้เพื่อการอย่างหนึ่งแล้ว ต่อมาคณะบุคคลนั้นประสงค์จะประกอบธุรกิจอย่างอื่น ก็ย่อมมีสิทธิกระทำได้
ในทางภาษีอากรนั้น ในการทำสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องปิดอากรแสตมป์จำนวน 100 บาท และต้องขอมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
ปุจฉา คณะบุคคลอันประกอบด้วยนาย ก. นาง ข. นาย ค. และนาง ง. ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ทำการซื้อขายที่ดิน ต่อมาได้มีการซื้อที่ดินบางแปลงโดยมีการระบุชื่อบุคคลในคณะบุคคลเพียงสามคน และได้ขายไปในปีภาษีถัดมา โดยได้นำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวทั้งหมดไปรวมคำนวณยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามของคณะบุคคลที่มีชื่อทั้งสี่คน เช่นนี้ การยื่นแบบฯ รวมนั้นเป็นการยื่นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
วิสัชนา  ตามข้อเท็จจริงบุคคลทั้งสี่คนได้แสดงเจตนาตกลงเข้ากันเพื่อซื้อที่ดินมา เพื่อขาย กรณีจึงถือได้ว่าบุคคลทั้งสี่มีเจตนาในการจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ในการเสียภาษีจึงต้องเสียภาษีในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิ ใช่นิติบุคคลทั้งสี่คนนั้น
สำหรับกรณีการเสียภาษีเงินได้จากการที่ดินนั้น แม้ตามสัญญาซื้อขายจะได้ระบุชื่อบุคคลเพียงสามคนคือ นาย ก. นาง ข. และนาย ค. โดยบุคคลทั้งสามได้นำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าว ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ในนามของคณะบุคคลทั้งสี่คนแล้ว กรณีถือได้ว่า เมื่อบุคคลทั้งสี่คนมีเจตนาในการตกลงเข้ากันเพื่อการซื้อขายที่ดินดังกล่าว และแม้ตามสัญญาซื้อขายจะได้ระบุชื่อบุคคลเพียงสามคน บุคคลที่สี่จึงถือเป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อ ตามมาตรา 806 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการเสียภาษีเงินได้สำหรับการขายที่ดินดังกล่าวในนามของคณะบุคคลทั้ง สี่คนจึงชอบด้วยมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/04248 ลงวันที่ 8 เมษายน 2541)

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น