h1.post-title{ font-size:20px;}

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับรางวัลส่วนลดจากการส่งเสริมการขาย (2)

ขอนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ

เนื่องจากการส่งเสริมการขาย คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 เพื่อให้การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 มาเป็นประเด็น ปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายในลักษณะเป็นสิ่งของ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในวันที่ที่มีการส่งมอบสิ่งของ โดยคำนวณมูลค่าของสิ่งของตามราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ส่งมอบของนั้น ตามมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร


ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายในลักษณะเป็นใบลดหนี้ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าวให้ผู้จ่าย คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามวันที่ที่ออกใบลดหนี้นั้น

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ โดยมีการแถมสินค้าไปพร้อมกับสินค้าที่ขายซึ่งมูลค่าของสินค้าที่แถมไม่เกิน มูลค่าของสินค้าที่ขาย ไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภท และชนิดเดียวกับสินค้าที่ขายหรือไม่ ผู้ขายสินค้าต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าวบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ผู้ขายสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับมูลค่าของสินค้าที่แถมแต่อย่างใด

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งซื้อสินค้าโดยมีวัตถุ ประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ โดยมีข้อตกลงให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังจากที่ขายสินค้าไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนลดเงินสดผู้ขายสินค้าต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าว หากผู้ขายมีข้อตกลงให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังจากที่ขายสินค้าไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนลดเงินสดที่เป็นปกติตามประเพณีทางการค้า และได้มีการระบุเงื่อนไขส่วนลดเงินสดไว้ในใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจน เช่น ถ้าผู้ซื้อชำระราคาภายใน 2 เดือน จะลดให้ 2% ของราคาสินค้า ส่วนลดดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่อยู่ในข่ายต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

ปุจฉา การจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายกรณีใดบ้างที่ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

วิสัชนา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ให้แก่ผู้ซื้อดังต่อไปนี้ ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

1. กรณีการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือ ใช้สอย โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ เช่น ผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าเพียงเล็กน้อย เป็นต้น

2. กรณีการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ เช่น การขายอาหารสัตว์ให้แก่ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ให้ใช้บังคับกับกรณีผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้แทนจำหน่ายของผู้ขายซึ่งซื้อ สินค้าเพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง เช่น บริษัท แห่งหนึ่งได้ขายสินค้าให้แก่บริษัทผู้แทนจำหน่ายซึ่งโดยปกติบริษัทผู้แทน จำหน่ายซื้อสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ แต่ในบางกรณีบริษัทผู้แทนจำหน่ายต้องการซื้อสินค้า เพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทผู้แทนจำหน่าย กรณีดังกล่าว ให้บริษัทผู้ขายสินค้าคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย

ปุจฉา การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ใช้กับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นได้ให้บริการด้วยหรือไม่

วิสัชนา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นได้ให้บริการแก่ผู้รับบริการซึ่งผู้ให้บริการทราบโดยชัด แจ้งว่าผู้รับบริการนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการต่อ หรือตามพฤติการณ์ผู้รับบริการมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการต่อแน่นอน ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายเนื่องจากการให้บริการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ โดยให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายเนื่องจากการดังกล่าวข้างต้นมาปรับใช้โดยอนุโลม

ปุจฉา ผู้รับรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา เนื่องจากรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ จากการส่งเสริมการขาย ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับจึงไม่ต้องนำเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ ดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น